ตราสารหนี้ (Bond)
ตราสารหนี้ (Bond)
คือ ตราสารทางการเงินที่ผู้ถือ (ผู้ลงทุน) มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ออกมีสถานะเป็นลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ “ดอกเบี้ย” อย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และได้รับ “เงินต้น” คืนเมื่อครบกำหนดอายุ
ตัวอย่างตราสารหนี้ที่พบเห็นทั่วไป เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน
6 เหตุผล ควรลงทุนใน “ตราสารหนี้”
ลงทุนสั้นก็ได้ ยาวก็ดี ตราสารหนี้มีอายุตั้งแต่ 1 วัน ไปจนถึง 20 ปี ระดับความเสี่ยงหลากหลาย ผู้ลงทุนเลือกได้ตามต้องการ |
|
เป็นแหล่งรายได้ประจำ เมื่อลงทุนแล้วจะได้รับดอกเบี้ยเป็นงวดๆ ตามที่ระบุไว้ในหน้าตั๋ว เหมาะกับ ผู้ลงทุนที่ต้องการรายได้แน่นอน สม่ำเสมอ |
|
ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาลมีความเสี่ยงต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป |
|
ลำดับสิทธิสูงกว่าหุ้นสามัญ ผู้ลงทุนในตราสารหนี้มีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” ขณะที่ผู้ลงทุนในหุ้นมีฐานะเป็น “เจ้าของ” เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับเงินคืนก่อนเจ้าของเสมอ |
|
กระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน ราคาและผลตอบแทนจากตราสารหนี้ จะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับหุ้น จึงช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน โดยรวมได้เป็นอย่างดี |
|
ขายก่อนครบกำหนดได้ ผู้ลงทุนสามารถขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนดได้ ซึ่งสภาพคล่องในการซื้อขายอาจแตกต่างกันไปตามปริมาณและประเภทของตราสารหนี้นั้นๆ |
ดัชนีราคาตราสารหนี้... ตัวช่วยวัดมูลค่าตลาดตราสารหนี้
ดัชนีตราสารหนี้ (Bond Index) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการติดตามความเคลื่อนไหว ของตลาดตราสารหนี้ โดยราคาตราสารหนี้จะเป็นตัวสะท้อนภาวะของอัตราดอกเบี้ย ในตลาด
กล่าวคือ หากอัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวลดลง ราคาของตราสารหนี้จะปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวสูงขึ้น ในทางกลับกัน หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดมีการปรับตัว เพิ่มขึ้น ราคาของตราสารหนี้จะปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังสามารถใช้ดัชนีตราสารหนี้เป็น เกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ในการเปรียบเทียบผลตอบแทนจากพอร์ตการลงทุนของตนเองเมื่อเทียบกับตลาด ซึ่งอาจต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นควบคู่ ไปด้วย เช่น ประเภทตราสาร หรืออายุเฉลี่ย ของตราสารหนี้ (Duration) ฯลฯ
ขั้นตอนการลงทุนใน “ตราสารหนี้”
การซื้อขายตราสารหนี้ไม่ได้ยากเย็นอย่างที่หลายๆ คนคิด เพราะมีความคล้ายคลึงกับการซื้อขายหุ้น โดยเริ่มต้นจาก...
1. กำหนดวัตถุประสงค์และระยะเวลาการลงทุน
เนื่องจากตราสารหนี้มีมากมายหลายประเภท การเลือกตราสารหนี้ที่เหมาะสมและคุ้มค่า ผู้ลงทุนต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ชัดเจนก่อนการลงทุน
- วัตถุประสงค์ในการลงทุนคืออะไร?
- สามารถรับระดับความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน?
- ต้องการผลตอบแทนที่คาดหวังสูง ต่ำ หรือปานกลาง?
- มีระยะเวลาในการลงทุนนานเท่าใด?
- จะลงทุนในตราสารหนี้ประเภทเดียวหรือหลายประเภท?
ดังนั้น ก่อนจะลงทุนตราสารหนี้แบบไหนควรศึกษาลักษณะต่างๆ ให้ดีก่อน เพราะตราสารหนี้แต่ละประเภทก็มีเงื่อนไขการลงทุน และผลตอบแทน ที่แตกต่างกัน เราควรเลือกประเภทที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของเราให้มากที่สุด
2. ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานต่างๆ เกี่ยวกับตราสารหนี้
ผู้ลงทุนจำเป็นต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานต่างๆ เกี่ยวกับตราสารหนี้ให้ดีก่อนเริ่มลงทุน ไม่ว่าจะเป็น...
- ภาวะเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น
- สถานการณ์ของตลาดตราสารหนี้โดยทั่วไป
- ข้อมูลของบริษัทผู้ออก และอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออก
- สภาพคล่องของตราสารหนี้
- อื่นๆ
โดยทั่วไปตราสารหนี้ภาครัฐมักมีสภาพคล่องที่สูงกว่าตราสารหนี้ภาคเอกชน และตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ได้รับอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Investment Grade หรือไม่มีการจัด Rating จะมีสภาพคล่องต่ำ ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาความเสี่ยงด้าน สภาพคล่องหรือความเสี่ยงที่ไม่สามารถขายตราสารหนี้ในเวลาที่ต้องการ หรือขายได้ในราคาต่ำ ก่อนการลงทุนเสมอ
3. ตัดสินใจซื้อขายตราสารหนี้
ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ 3 วิธี คือ ลงทุนตราสารหนี้ในตลาดแรก ลงทุนตราสารหนี้ในตลาดรอง หรือลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้
4. ติดตามผลการลงทุน
หลังจากที่ผู้ลงทุนตัดสินใจซื้อหรือขายเรียบร้อยแล้ว อย่าลืม... “ติดตามผลการลงทุน” และ “ติดตามข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการลงทุน” อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะข่าวในแวดวงตลาดตราสารหนี้ หรือบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ เพราะการที่ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และทันต่อเหตุการณ์ จะทำให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนได้ทันท่วงที
ขอบคุณข้อมูลจาก set.or.th